ข่าวจากนิตยสาร foodfocusthailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566
Interviewed by:Editorial Team
Food Focus Thailand Magazine
[email protected]
สิ่งที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยต้องปรับตัว คือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมกันนี้ คุณกิตติ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน บริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ได้กล่าวเสริมอีกว่า “หากผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจนี้ได้ จะสามารถดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา พร้อมเดินหน้าสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่อไป”
บริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ให้ความสำคัญและดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Model มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ในการแปรรูปโดยไม่มีส่วนเหลือทิ้ง เพราะทุกส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตจะถูกนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียในอุตสาหกรรม โดยการใช้ระบบไบโอแก๊สซึ่งนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตมาหมุนเวียนเพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงงาน ส่วนแก๊สที่เหลือนำมาผลิตเป็นไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการอบแป้ง ทำให้ไม่ต้องจัดซื้อเชื้อเพลิงจากภายนอก ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางการลดของเสียให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) อีกด้วย
ณ วันนี้ หากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยยังไม่ปรับตัวเข้าสู่ BCG Model ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์และปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบถึงการถูกกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดการนำเข้าหรือการตั้งกำแพงภาษีที่เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลกระทบระยะยาวถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
แต่หากเรามีการปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้แล้ว จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้