ขอขอบคุณ sdperspectives ที่ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมและทำข่าว การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ BCG ของโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ https://www.sdperspectives.com/circular-economy/21383-visit-banpong-tapioca/
10 กันยายน 2566…บริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ได้สะท้อนภาพดังกล่าวข้างต้นภายใต้ BCG MODEL ผ่านรูปแบบการดำเนินงานและเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดระยะเวลา 50 ปี ปัจจุบันยกระดับและแก้ปัญหาเนื้อสัมผัส ในอุตสาหกรรมอาหารและไม่ใช่อาหาร มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลก
ชัยวุฒิ สุขสมิทธิ์ กรรมการบริหาร ประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ กิตติ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน นพ.สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด หรือ บ้านโป่งทาปิโอก้า ฉายภาพบริษัทครอบครัวมีฐานการผลิตและสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีพนักงานจำนวน 550 คน ในจำนวนนี้ เป็นพนักงานในส่วนของ R&D ประมาณ 45 คน มีโรงงาน 11 แห่งในจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก
วันนี้เราอยู่ที่โรงงานแห่งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่ยังสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมได้อย่างทันยุคทันสมัย
“สิ่งที่บริษัทยึดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจตลอดครึ่งทศวรรษคือ การคำนึงถึงความอยู่รอดในระยะยาวและเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้นั้น บริษัทจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งการบริหารจัดการที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุมชน สิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้คุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการมองหาโอกาสช่องทางที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ผลิต”
ประสิทธิ์กล่าวต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของบริษัทจากอดีตถึงปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น BCG โดยธรรมขาติ
“เมื่อพบว่าแนวปฎิบัติของบริษัทไปสอดคล้องกับการส่งเสริมรณรงค์ BCG Model ของภาครัฐ เท่ากับตอกย้ำความและเพิ่มความเชื่อมั่นให้บริษัทว่า แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาจนยุทธศาสตร์ต่อไปที่บริษัทวางไว้นั้นได้มาถูกทางแล้ว และจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้บริษัทเติบโตยั่งยืนในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน”
ณ วันนี้บ้านโป่งทาปิโอก้า ผู้บริหารบริษัทยืนยันว่า เป็นธุรกิจที่เดินตาม BCG Model ได้อย่างครบวงจร
เริ่มจากเศรษฐกิจชีภาพ (Bio Economy) ธุรกิจของบ้านโป่งทาปิโอก้า ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพอยู่แล้วเกี่ยวพันทั้งด้านการเกษตรและธุรกิจอาหารจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร บริษัทมีการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ปลูกมันสายพันธุ์พิเศษเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของมันสำปะหลังและรับซื้อในราคาที่สูงกว่า ท้องตลาด 100%- 150% นอกจากนี้เกษตรกรในเครือข่ายจะได้รับการดูแลจากบริษัท อย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ การเพาะท่อนพันธุ์ ให้กับเกษตรกรเพื่อ นำไปใช้ในการเพาะปลูก ระหว่างทางก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูและให้คำปรึกษา จนกระทั่งถึงช่วงของการเก็บเกี่ยว ขนส่ง ผลผลิตเข้าสู่โรงงาน
- บรรยายใต้ภาพ: โรงงานมันสำปะหลังแห่งแรกยังคงทำหน้าที่ 24×7 ภายใต้การดูแลของพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ รวมถึงดูแลแปลงทดลองปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ของบริษัทในโรงงาน
“ปัจจุบันบริษัทส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ในสายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ สายพันธุ์ ลูเซนท์ (LUCENT) ซึ่งจุดเด่นของมันสายพันธุ์พิเศษนี้เมื่อมาบวกกับการวิจัยของบริษัท ทำให้ได้แป้งที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแป้งจากมันฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง ทุกวันนี้เกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทที่มีปะมาณ 2,000 ครอบครัวสามารถขายมันสำปะหลังได้ ประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อไร่”
ในมิติของ เศรษฐกิจชีวภาพ คือการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนา การผลิตของบ้านโป่งทาปิโอก้า นั้นนับว่าเป็นหัวใจของการเติบโตของบริษัทในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ของบริษัทให้เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการจากโรงงานแปรรูปแป้งแบบเดิมเพื่อก้าวไปเป็น Texture House company เพื่อให้บริการ Texture Solution ที่จะเข้าไปช่วยแก้ Pain Points ทางด้านเนื้อสัมผัส(Texture) โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อาหารทางการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมยา และ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารอย่างอุตสาหกรรมกระดาษ
- บรรยายใต้ภาพ: ห้อง Lab ในโรงงานแห่งนี้ เป็นที่รับโจทย์จากลูกค้าที่ต้องการ Texture Solution หลากหลายรูปแบบจากโรงงาน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของลูกค้า เช่นเดียวกับลูกค้าที่เสมือนทาสแมว มักจะหาทรายแมวคุณภาพดีให้ลูกรัก และส่วนใหญ่ก็พบว่าทรายแมวจากมันสำปะหลังคือสิ่งที่แมวชอบ
ทั้งนี้ ผลพลอยได้การดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยลดภาระของเกษตรกรแล้ว ยังจะช่วยให้บริษัทมีโอกาสได้เข้ามาควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกได้โดยตรง ทำให้สามารถวางแผนการผลิตภายในบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
“พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตร ในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแป้งที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่นถั่วเขียว ถั่วขาว และข้าว เป็นต้น”
มาถึง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หัวมันสำปะหลัง จะประกอบด้วย สามส่วนคือ แป้ง กาก และน้ำ หลังจากที่สกัดนำเอาส่วนของแป้งไปใช้ ส่วนที่เหลือคือ น้ำ กากมันรวมถึงเปลือกมัน ก็คือของเหลือใช้ แต่ในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของบริษัทในทุกวันนี้ ไม่มีส่วนใดที่เหลือทิ้งเลย
- บรรยายใต้ภาพ: น้ำที่ใช้ขั้นตอนแรกหน้าโรงงาน เป็นน้ำที่ผ่านการบริหารจัดการตามกฎมหายในโรงงาน และนำมา Reuse ในการล้างมันสำปะหลังก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป
“ทุกส่วนของมันสำปะหลังนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนและบริษัท ซึ่งวิวัฒนาการของการจัดการของเสียจากการผลิตของบริษัทได้มีการจัดการตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงนำนวัตกรรมมาช่วยแปลงสภาพจากของเสียเป็นรายได้”
กากมัน เปลือกมัน และตะกอนดิน ที่ติดมาจากมันสำปะหลัง ในอดีตจะจัดการโดยการนำกลับไปให้เกษตรกรใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน นำไปใช้ในการเพาะเห็ด นำไปหมักกับหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ แต่ปัจจุบันบริษัทได้ทำ R&D นำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงสำหรับนำไปสกัดเป็นโปรตีน และยังนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นทรายแมว โดยอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าทรายแมวจากกากมันสำปะหลังในชื่อของบริษัทอีกด้วย
- บรรยายใต้ภาพ: น้ำทุกหยดที่ใช้ในโรงงาน ถูกบริหารจัดการน้ำตามมาตรฐานกฎหมาย และนำกลับมาใช้ในการผลิตอีกครั้ง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำ และนำน้ำกลับมาใช้ตั้งแต่หน้าโรงงาน โดยไม่มีน้ำเล็ดลอดออกจากโรงงาน
“ในส่วนของน้ำเสียจากกระบวนการล้างมัน และน้ำที่สกัดออกมาจากหัวมัน ที่เป็นปัญหาสำหรับของโรงงานอุตสาหกรรมในยุคแรก บริษัทได้มีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนจากน้ำเสียมาใช้ใน 2 รูปแบบคือเพื่อให้ได้น้ำที่สะอาดตามมาตรฐานกลับมาใช้ล้างหัวมันต่อไป และอีกส่วนคือผลิตเป็นไบโอแก๊ส หรือ แก๊สชีวภาพไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงพลังงานความร้อนสำหรับอบแป้ง ซึ่งระบบการกำจัดน้ำเสียอย่างครบวงจรของบริษัทนั้นยังสามารถช่วยแก้ปัญหามลภาวะเรื่องกลิ่นตามไปด้วย นอกจากนี้บริษัทยังสามารถจำหน่ายและแบ่งปันจุลินทรีที่เกิดจากกระบวนการหมักก๊าซชีวภาพของบริษัทกลับคืนมาเป็นเป็นรายได้อีกจำนวนหนึ่ง”
มาถึงตัวสุดท้าย เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และนอกเหนือจากการทำไบโอแก๊สแล้ว บริษัทยังมีนโยบายการใช้พลังงานทดแทน โดยมีการทำโซลาฟาร์มขึ้นบนพื้นที่ของบริษัท ปัจจุบันนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนในเวลากลางวันได้ถึง 80% ของพลังงานที่โรงงานต้องใช้ และยังมีนโยบายปลูกต้นไม้ยืนต้นในทุกๆปี บริษัทยังได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในระดับ 3 ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะดำเนินงานให้ได้ถึงระดับ 4 ในปี 2567
- บรรยายใต้ภาพ: ที่โรงงานใช้พลังงานทดแทนตั้งแต่ยุคแรก ใช้น้ำเสีย ผลิตเป็นไบโอแก๊ส ทดแทนเชื้อเพลิงพลังงานความร้อนสำหรับอบแป้ง และปัจจุบันเปิดพิ้นที่โรงงานทำโซล่าร์ ฟาร์มเพื่อผลิตพลังงานทดแทน 80% ใช้ในโรงงาน
ปัจจุบันบ้านโป่งทาโอปิก้า ใช้ปริมาณหัวมันสำปะหลังจากเกษตรกรประมาณ 600,000 ตัน ซึ่งมาจากเกษตรกรในเครือข่ายประมาณ 2 แสนกว่าตัน และมาจากตัวแทนที่ป้อนมันให้กับบริษัทประมาณ 3 แสนกว่าตัน ต้นทุนหัวมันอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อกิโล บริษัทนำมาแปรรูปเป็นสินค้าใน 4 กลุ่ม
- กลุ่มที่หนึ่งคือแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม (Native starch) มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 15% มูลค่าทางการตลาดของแป้งประเภทนี้อยู่ที่ ประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม
- กลุ่มที่สอง คือแป้งมันดัดแปรพื้นฐาน (Basic Modified Starch) มีปริมาณการผลิตประมาณ 41% มูลค่าทางการตลาดของแป้งประเภทนี้อยู่ที่ ประมาณ 25 บาทต่อกิโลกรัม
- กลุ่มที่สาม คือ แป้งดัดแปรมูลค่าสูง (High Value Food Texture Solution) ที่นำไปใช้สำหรับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเนื้อสัมผัสในอาหารและเครื่องดื่ม มีปริมาณการผลิตประมาณ 41% มูลค่าทางการตลาดของแป้งประเภทนี้อยู่ที่ ประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม
- กลุ่มที่สี่ คือ แป้งดัดแปรที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ (Nutrition) ซึ่งมีปริมาณการผลิตประมาณ 3% มูลค่าทางการตลาดของแป้งประเภทนี้อยู่ที่ ประมาณ 100-800 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่กับการนำไปทำอาหารทดแทนประเภทไหน
ทิศทางการผลิตของบ้านโป่งทาปิโอก้า คือขยายสัดส่วนการผลิตและการตลาด สินค้าในกลุ่ม High Value Food Texture Solution และ Nutrition ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าเป็นสินค้าหลักของบริษัทในอนาคต
อาจกล่าวได้ว่า BCG MODEL เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานของบ้านโป่งทาปิโอก้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และยังช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถเดินตามแผนยุทธศาสตร์ทีต้องการคือเป็นบริษัทไทยที่ มุ่งสู่การเป็นTexture House Company ให้บริการ Texture Solution ผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับและแก้ปัญหาเนื้อสัมผัสในอุตสาหกรรมอาหารและและไม่ใช่อาหาร ได้อย่างยั่งยืนในระดับโลก