ข่าวจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2566
https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1067049
บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ทรานฟอร์มธุรกิจ จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง สู่ Texture House Company ให้บริการ Texture Solution ช่วยแก้โจทย์ให้กับทุกอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัส ต่อยอดสู่อุตสหากรรมสุขภาพ รับสังคมสูงวัย
Key Point :
- ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารคิดเป็น 1 ส่วน 4 ของ GDP อีกทั้ง ส่งออกมันสำปะหลังกว่า 1.5 แสนล้านบาท
- บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ซึ่งมีการทรานฟอร์มธุรกิจมากว่า 6 ปี จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง สู่ Texture House Company ส่งผลให้ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด
- รายได้จาก Texture Solution ของบ้านโป่งทาปิโอก้า คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ต่อยอดสู่ ‘อุตสาหกรรมสุขภาพ’ โดยนำ แป้งมันสำปะหลัง ผ่านกระบวนการพัฒนา สู่ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ
ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศของโลกที่ผลิตอาหารมากกว่าบริโภค อีกทั้ง มีการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยอันดับต้นๆ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวาน ทุเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกมันสำปะหลังกว่า 1.5 แสนล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมันสำปะหลังกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารคิดเป็น 1 ส่วน 4 ของ GDP แรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารกว่า 2 ใน 3 ของแรงงานประเทศ ราว 12 ล้านคน จาก 18 ล้านคน อุตสาหกรรมอาหารจึงถือเป็นโอกาสและข้อได้เปรียบของไทย แต่การยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมจะช่วยส่งเสริมให้มูลค่าของผลผลิต อีกทั้ง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยังส่งผลให้ตลาด Nutrition ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยางนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันเข้าสู่ยุคเจนเนอเรชั่นที่ 3 และมีการทรานฟอร์มธุรกิจมาแล้วกว่า 6 ปี จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง สู่ Texture House Company ให้บริการ Texture Solution ช่วยแก้โจทย์ให้กับทุกอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัส โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะการที่อาหารอร่อย ไม่ใช่แค่รสชาติเท่านั้น แต่รสสัมผัสก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
เรียกได้ว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บ้านโป่งทาปิโอก้า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผลจากการนำนวัตกรรมมาพัฒนาแป้งมันธรรมดา เพิ่มมูลค่าตอบโจทย์ลูกค้าด้วย Texture Solution จนปัจจุบัน แป้งมันแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นสินค้าหลักของบริษัทมากกว่า 40 ปี มีมูลค่าเหลือเพียง 10% ของยอดขายรวมทั้งหมด ขณะที่ Texture Solution มีสัดส่วนกว่า 40% ของยอดขายในปี 2565
เดินหน้าอุตสาหกรรมสุขภาพ
นพ.สมิทธ์ สุขสมิทธ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าว ทรานฟอร์มธุรกิจ สู่ ‘บ้านโป่งทาปิโอก้า’ โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์ในบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นพัฒนาเนื้อสัมผัสในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความนุ่ม แน่น เนื้อ กรอบ แข็ง เปราะ ฉ่ำ เนียน หยาบ เหนียว และความเป็นเส้นใย เป็นต้น
ถัดมา คือ การต่อยอดสู่การพัฒนาโดยการลงทุนนวัตกรรมใน ‘อุตสาหกรรมสุขภาพ’ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยนำแป้งมันสำปะหลัง ผ่านกระบวนการพัฒนา สู่ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เพราะโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการอาหารทางการแพทย์ในการตอบโจทย์ผู้ป่วย และคาร์โบไฮเดรตเป็น 1 ใน 3 สารอาหารหลักที่ทุกคนต้องการนอกจากไขมันและโปรตีน อีกทั้ง ลูกค้าส่วนหนึ่งนำไปใช้ในวัตถุดิบสำหรับอาหารทางการแพทย์ และอาหารเสริม
“คาร์โบไฮเดรต จะย่อยเป็นน้ำตาล เป็นแหล่งพลังงาน ดังนั้น เราจึงนำนวัตกรรมมาช่วยให้คาร์โบไฮเดรตให้พลังงานตามที่ต้องการ เช่น ดัดแปลงนวัตกรรมให้ย่อยคาร์โบไฮเดรตช้าลงสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ร่างกายจะได้คาร์โบไฮเดรตแต่ไม่ย่อยเป็นน้ำตาล และสามารถควบคุมเบาหวาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทอสอบในมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาอาหารทางการแพทย์เฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มโรคไต มะเร็ง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเสต็ปต่อไป”
นพ.สมิทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำให้เห็นโอกาสในอุตสาหกรรมสุขภาพ มองว่าการทำให้คาร์โบไฮเดรตมีมูลค่าสูงขึ้น คือ การทำในเรื่องของ Nutrition หากเป็นสังคมผู้สูงอายุเขาไม่สามารถทานแป้งผ่านกระบวนการแปรรูปได้ เช่น แปรรูปเป็นขนมปัง ขนมทอด ต้องทานในเครื่องดื่ม หรือ อาหารสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนได้ ซึ่งก็สามารถนำเอานวัตกรรมที่เราได้พัฒนามาผลิตได้
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทที่ทำด้าน Nutrition ในตลาดเป็นบริษัทต่างชาติเกือบทั้งหมด และใช้วัตถุดิบบางส่วนมาจากเมืองไทย ดังนั้น มองว่าเราสามารถทำได้ เพราะเรามีนวัตกรรมและเครือข่าย อีกทั้ง กระบวนการผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับ Nutrition ยังมีการควบคุมคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน อย. และมั่นใจได้ว่าไม่เกิดเชื้อในกระบวนการผลิต มีระบบล้างอัตโนมัติเมื่อผลิตเสร็จ และเข้มงวดมากขึ้น”
สุดท้าย คือ การให้บริการลูกค้ากลุ่มที่สาม คือ อุตสาหกรรมกระดาษ โดยพัฒนาแป้งให้มีคุณสมบัติเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการขึ้นรูป เพิ่มความแข็งแรง และการเคลือบผิวหน้ากระดาษ เป็นต้น
ตั้งเป้ารายได้ 4,000 ล้าน ใน 4 ปี
อนึ่ง บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ก่อตั้งในปี 1973 เพื่อแปรรูปมันสำปะหลังส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในไทยที่มีมากกว่า 80 บริษัท และมีการดิสรัปตนเองเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา โดยตัดสินใจลงทุนกว่า 800 ล้านบาท ในเทคโนโลยีและสร้างโรงงานใหม่เพื่อเริ่มต้นผลิตแป้งสำหรับ Texture Solution โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้กว่า 1,763 โตเฉลี่ย 15.18% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งเป้ารายได้ปีนี้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท และ 4,000 ล้านบาทในปี 2570
ปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 550 คน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานในส่วนของ R&D ราว 45 คน มีโรงงาน 11 แห่ง ลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายใน 21 ประเทศทั่วโลก ใช้มันสำปะหลังมากกว่า 2 แสนตันต่อปี โดยล่าสุด กับการปักหมุดสำนักงานในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับการทำงานร่วมกันกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการ แล็บวิจัย สถานที่เวิร์กช็อป ระหว่างบริษัทกับลูกค้า หรือ ระหว่างบริษัทกับตัวแทนจำหน่ายที่มีใน 20 ประเทศ
เกษตรยั่งยืนด้วย BCG Model
“กิตติ สุขสมิทธ์” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าวเสริมว่า นอกจากการวิจัยนวัตกรรมแล้ว บริษัท ยังให้ความสำคัญกับตัววัตถุดิบที่นำมาผลิต ปัจจุบันช้มันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งลูเซนท์ (LUCENT) ชนิดต่างๆ ซึ่งเมื่อนำมาผนวกกับวิจัยของบ้านโป่งทาปิโอก้า ทำให้ได้แป้งที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแป้งจากมันฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง
ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในเครือข่ายปลูกมันสายพันธุ์พิเศษและรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 150 % ผ่านรูปแบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง โดยเกษตรกรที่เข้ามาเป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายดังกล่าว จะได้รับการดูแลจากบริษัทแบบครบวงจร ตั้งแต่การเพาะท่อนพันธุ์ ให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการปลูก ให้คำปรึกษา กระทั่งเก็บเกี่ยว ขนส่ง ผลผลิตเข้าสู่โรงงาน
ตลอดระยะเวลาในการทำธุรกิจ บ้านโป่งทาปิโอก้า ยังให้ความสำคัญกับการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามหลักของ BCG Model โดยกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของบริษัทไม่มีส่วนใดที่เหลือทิ้ง ทุกส่วนนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนและบางส่วนแปลงกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัท เช่น การใช้ประโยชน์จากน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ
ส่วนกากมันสำปะหลังนำไปขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือแจกจ่ายเกษตรกรนำไปเพาะเห็ด รวมถึงนำไปวิจัยและพัฒนาเป็นสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น ทรายแมวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรวมแล้วในแต่ละปีบริษัทมีรายได้จากการนำของเหลือใช้ไปเพิ่มมูลค่าปีละประมาณ 2-3 % ของยอดขาย รวมถึงยังมีรายรับจากการขายคาร์บอนเครดิตปีละกว่าหนึ่งล้านบาท