ขอบคุณ SME Thailand
https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/9133.html
22 มิถุนายน 2566
TEXT / PHOTO : Nitta Su.
Main Idea
- การทำให้ธุรกิจเติบโต บางครั้งอาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จำนวนการผลิตที่เยอะขึ้น หรือยอดขายที่มากขึ้น แต่อาจอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ โดยใช้นวัตกรรม ทำให้จากสินค้าจำนวนเท่าเดิม แต่ขายได้ราคาเยอะขึ้น
- เหมือนกับ “บ้านโป่งทาปิโอก้า” โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังอายุกว่า 50 ปี ที่พลิกตัวเอง โดยปรับ Mindset จากผู้ผลิตแป้ง มาเป็น Food Texture Solution ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแป้งนวัตกรรมต่างๆ เปลี่ยนธุรกิจให้เติบโตเป็นหลักพันล้านบาทได้
ย้อนไปสมัย 50 ปีก่อน “บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด” คือ โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จนเมื่อ 10 ปีก่อนหลังจากกิจการได้ตกมาอยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 2 จากพี่น้องที่ต่างช่วยกันบริหารธุรกิจของครอบครัวมานานนับหลายสิบปี ก็เกิดการประชุมปรึกษาหารือกันถึงทิศทางต่อไปของธุรกิจ จนเกิดเป็นจุดเปลี่ยนการทรานฟอร์มครั้งใหญ่ของธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มขยับจาก 1,000 ล้านบาท เป็นเกือบ 2,000 ล้านบาท ได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปี! พวกเขาทำได้ยังไง ไปหาคำตอบกัน
“ธุรกิจของเราก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2516 หรือราว 50 ปีก่อน โดยคุณพ่อและคุณแม่ ชื่อเดิมของเรา คือ “บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด” เป็นโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังทั่วไป เพื่อส่งขายให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีโรงงานคู่แข่งที่ผลิตเหมือนกันในไทยอยู่ราว 80 กว่าบริษัท อยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงเหมือนกัน จนเมื่อเกือบสิบปีก่อน เราประชุมปรึกษาหารือกันในกลุ่มผู้บริหารว่าจะส่งต่อธุรกิจนี้ให้กับทายาทยังไง จนได้ข้อสรุปว่าหากอยากเติบโตได้มากขึ้นกว่านี้ เราจะคิดและทำแบบเดิมต่อไปไม่ได้
“จากจุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราหันมา Disrupt และคิดทรานฟอร์มตัวเอง จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังธรรมดา สู่การเป็น Food Texture Solution เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตแป้งนวัตกรรมต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารมีเนื้อสัมผัสที่ดีขึ้น ไม่ว่าเมนูไหน โดยเราตัดสินใจลงทุนด้านนวัตกรรมกว่า 800 ล้านบาทในปี 2560 จนทำให้มีลูกค้ามากกว่าหลายร้อยบริษัท ส่งออกไปขายมากกว่า 21 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเราตั้งเป้าหมายใหม่ครั้งนั้นในระยะเวลา 5 ปีว่าจะทำให้ขยับเพิ่มขึ้นมาจากบริษัทพันล้าน ให้เป็นสองพันล้านบาทได้ ซึ่งปี 2565 ยอดรายได้เราอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท และภายในปีนี้น่าจะถึง 2,000 ล้านตามที่ตั้งไว้แน่นอน” ประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด เล่าถึงที่มาจุดเปลี่ยนการทรานฟอร์มธุรกิจให้ฟัง
จากความตั้งใจที่อยากปรับตัวเองจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง สู่องค์กรที่ใช้นวัตกรรมในการผลิตสินค้า นพ.สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรมฯ ได้เล่าถึงสัดส่วนการผลิตสินค้าในปัจจุบันของบ้านโป่งทาปิโอก้าว่าจะมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มหลักก่อน ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีนวัตกรรมด้าน Texture Solution ต่างๆ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และ 2.อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น การนำแป้งไปใช้เป็นส่วนผสมในยาและอาหารสำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องการทางเลือกเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีในส่วนของอุตสาหกรรมกระดาษ โดยนำแป้งเป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการขึ้นรูป รวมถึงของเสียที่เหลือจากการผลิต ยังนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ทรายแมว เป็นต้น
“เราเชื่อว่าเราเดินทางมาถูกแล้วสำหรับเฟสแรกที่ปรับตัวเองจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง สู่การทำ Texture Solution เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาหารจะอร่อยได้ต้องขึ้นอยู่ที่รสชาติและเนื้อสัมผัสที่ดี เช่น ความกรอบ เรามีหน้าที่ทำยังไงก็ได้ให้อาหารกรอบอร่อยนั้นอยู่เหมือนเดิม แม้ผ่านเวลาไปนานหรือนำไปแช่เย็น แล้วเอาออกมาอุ่นอีกครั้ง เพราะต้องคำนึงถึงการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่ด้วย ซึ่งต่อจากนี้เราจะไปจับกลุ่มตลาดเพื่อสุขภาพด้วย ไม่ว่าใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมยา หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น แป้งขนมปังจากแป้งมันสำปะหลัง เป็นทางเลือกให้ผู้แพ้กลูเตน ซึ่งก็ยังไม่มีใครทำมาก่อน โดยเราภูมิใจที่เป็นโรงงานผลิตแป้งรายเดียวที่ถือหุ้นโดยคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง ซึ่งตั้งแต่เริ่มปรับวิสัยทัศน์กันใหม่ เราก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาตลอด โดยเราจะแบ่ง 2 เปอร์เซ็นต์จากยอดรายได้ เพื่อใช้ในส่วนนี้
“โดยจากที่ผ่านมา 40 ปีก่อน อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง คือ ร้อยเปอร์เซ็นต์ของรายได้ของเรา แต่ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง นอกนั้น คือ สินค้าที่มีการคิดค้นและใส่นวัตกรรมลงไป จนทำให้มูลค่าธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น มันสำปะหลัง ราคากก.ละ 3 บาท เอามาแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะธรรมดาหลังจะขายได้กก.ละ 12 บาท แต่เราเอาไปต่อยอดทำแป้งดัดแปลงพื้นฐานสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกขายกก.ละ 25 บาท จนปัจจุบันเราปรับมาทำในกลุ่ม Texture Solution มากขึ้นก็เพิ่มมูลค่าได้อีกเป็นกก.ละ 50 บาท และที่กำลังวางแผนให้โตไปอีกขั้น ก็คือ กลุ่ม Nutrition Lifestyle เกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาที่ดี ถ้าทำได้จะสามารถขยับไปได้ถึงกก.ละ 100-800 บาทเลยทีเดียว
“จะเห็นว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนตามนวัตกรรมที่เราใส่ลงไป จุดยืนของเราตอนนี้จึงไม่ใช่บริษัทที่ผลิต แต่เป็นบริษัทที่นำนวัตกรรมมาเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมาเราวางแผนว่าจะโตจาก 1 พันล้าน ให้เป็น 2 พันล้านให้ได้ในปีนี้ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราตั้งเป้าจะเป็นบริษัท 4 พันล้านให้ได้ ที่มีรายได้ 70 เปอร์เซ็นต์มาจาก 2 โซลูชั่นใหม่ของเรา คือ กลุ่ม Texture Solution และ Nutrition Lifestyle”
โดยนอกจากจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมแล้ว ในด้านการผลิตพื้นฐานตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก บ้านโป่งทาปิโอก้าก็มีการพัฒนาร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ใช้ ไปจนถึงการดูแลอย่างครบวงจร ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมถึงการแสวงหาพืชในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาผลิตแป้งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย กิตติ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชนฯ ได้ให้รายละเอียดว่า
“นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว เรายังให้ความสำคัญการพัฒนาวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางด้วย ยกตัวอย่างเช่นมันสำปะหลังที่ใช้ในตอนนี้ ก็เป็นสายพันธุ์พิเศษ ชื่อว่า “ลูเซนท์” (Lucent) ซึ่งผลิตออกมาแล้วจะมีคุณสมบัติเทียบเท่าแป้งมันฝรั่งที่มีราคาสูงกว่า 5-6 เท่า โดยเรามีการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 150% ผ่านรูปแบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง เกษตรกรที่เข้ามาเป็นสมาชิกในเครือข่ายดังกล่าวจะได้รับการดูแลจากบริษัทอย่างดี ครบวงจร ตั้งแต่การเพาะท่อนพันธุ์ ให้เกษตรกรนำไปใช้ในการปลูก โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาอยู่ตลอด
“มีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ เช่น การวิเคราะห์สภาพดินแต่ละแปลงปลูก มีธาตุอาหารสำคัญอยู่เท่าไหร่ โดยใช้วิธีดูผ่านแผนที่ดาวเทียม เพื่อการให้ปุ๋ยที่เหมาะสม โดยแต่เดิม คือ เกษตรกรต้องนำตัวอย่างดินมาให้ ซึ่งเรามีทีมไอทีของตัวเองเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ จากการพัฒนาดังกล่าวทำให้เราสามารถรู้ปริมาณคร่าวๆ ในการผลิต เพื่อนำไปบริหารจัดการให้ได้พอดีกับความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้วัตถุดิบสดใหม่ มีคุณภาพ มีการเก็บข้อมูล Big Data ติดเป็นซีเรียลนัมเบอร์เลยว่าถุงนี้ผลิตมาจากไร่ไหน เพื่อการดูข้อมูลย้อนกลับ
“ที่สำคัญเรายังมีการให้ความสำคัญกับการผลิตโดยยึดหลักของ BCG Model ด้วย โดยในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของเรานั้น ไม่มีส่วนใดเลยที่เหลือทิ้งเลย ทุกส่วนถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด เช่น กากมันสำปะหลัง เราก็ขายเป็นอาหารสัตว์ หรือแจกให้เกษตรกรนำไปเพาะเห็ด หรือทดลองทำทรายแมว เป็นต้น น้ำเสียจากการผลิตเราก็นำไปทำเป็นก๊าซชีวภาพ นอกจากนี้เรายังมีการขายคาร์บอนเครดิตด้วย ซึ่งรายได้จากการนำของเสียเหล่านี้มาเพิ่มมูลค่าสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทปีละ 2-3 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายเลยทีเดียว”
จากการ Disrupt ตัวเองของบ้านโป่งทาปิโอก้า พลิกวิธีคิดในการทำธุรกิจ ทำให้ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังแปรรูปเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้แป้งเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการสร้างเทคเจอร์ หรือเนื้อสัมผัสต่างๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเปลี่ยนตัวเองสู่ Texture House Company ให้บริการ Texture Solution ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเดินเข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อให้ช่วยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้
“ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา เราพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง มาเป็นบริษัทที่ให้บริการช่วยลูกค้าแก้ไขปัญหาหรือผลิตนวัตกรรมเกี่ยวกับแป้ง เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เราไม่ใช่แค่คนแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง แต่คือ ผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ด้านโครงสร้างของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้ความต้องการจากลูกค้า หลายครั้งที่โจทย์ของลูกค้า คือ การพัฒนาต่อยอดให้กับเรา ที่ผ่านมาเราอาจทำกับลูกค้าต่างประเทศมาตลอด แต่วันนี้เราจะกลับมาทำตลาดในประเทศให้มากขึ้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทย โดยเข้ามาตั้งออฟฟิศอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“และนอกจากมันสำปะหลังแล้ว เรายังมองหาวัตถุดิบอื่นที่มีคุณภาพเพื่อนำมาผลิตเป็นแป้ง เช่น ถั่วเขียว, ถั่วขาว และข้าว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ที่เราสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ในวันนี้ เราไม่ได้ทำเยอะขึ้นมากกว่าเดิม เราทำเท่าเดิม แต่ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าธุรกิจให้มากขึ้น” ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจฯ ทายาทรุ่นที่ 3 กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้