ข่าวจาก Brandage วันที่ 24 พฤษภาคม 2566
https://www.brandage.com/article/35290
หนึ่งปัญหาใหญ่ของ SMEs โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจครอบครัวก็คือการเข้ามารับช่วงต่อกิจการของทายาท ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกรณีศึกษาทั้งรูปแบบที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวให้เห็นอยู่เสมอ จนมีคำพูดที่บอกกันปากต่อปากว่า ธุรกิจครอบครัวจะไปต่อได้อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ต้องดูที่ “ทายาทรุ่นที่ 3”
กรณีศึกษาของ “บ้านโป่งทาปิโอก้า” ที่เพิ่งจะผ่านสเตทนี้มาได้ จึงถือเป็นตัวอย่างการปรับตัวองค์กรให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
บ้านโป่งทาปิโอก้า คือบริษัทที่เกิดขึ้นจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว คือบริษัท อุตสาห กรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด ที่ทำธุรกิจแปรรูปมันสำปะหลังเป็นแป้งมันสำปะหลังขายทั้งในและต่างประเทศ มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1973
ถ้าดูกันตามเนื้อผ้าแป้งมันสำปะหลังนี้จัดอยู่ในกลุ่มสินค้า Commodity Product หรือสินค้า ชั่ง ตวง วัด ที่เป็นสินค้าพื้นฐานที่สร้างมูลค่าได้ยาก
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในประเทศไทยที่มีมากกว่า 80 บริษัท เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ทางผู้บริหารของอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จึงมีการหารือกันเกี่ยวกับวิสัย ทัศน์และทิศทางการเติบโตของบริษัทในอนาคตว่าจะส่งต่อให้กับทายาทรุ่นต่อไปอย่างไร ซึ่งก็ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่าอยากจะเติบโตมากกว่านี้
ดังนั้นอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่งจะคิดและทำแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ ถ้าต้องการหลุดพ้นจาก Commodity Product ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ Disrupt ตัวเองสู่การเป็น Texture House & Ingradient Company
บ้านโป่งทาปิโอก้า จึงถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ด้วยการเปลี่ยนมายด์เซตใหม่จากเดิมที่โรงงานเป็นหัวใจของบริษัทมาเป็นการใช้นวัตกรรมเป็นหัวใจของบริษัท โดยการวางเป้าหมายให้เป็น Food Tech
นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า อธิบายถึงความแตกต่างในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรอย่างมันสำปะหลังว่า แป้งมันสำปะหลังทั่วไปสามารถเพิ่มมูลค่าจากหัวมันดิบกิโลกรัมละ 3 บาท มาเป็นแป้งมัน (Native Starch) กิโลกรัมละ 12 บาท ถ้าพัฒนาสินค้าเป็นแป้งมันแปรรูป (Basis Modified Starch) จะสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท แต่ถ้าพัฒนาเป็น Hi Value Food Texture Solution ราคาขายจะขยับขึ้นเป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม และสุดท้ายถ้าพัฒนาไปทำเป็น Nutrition หรือ Lifestyle ราคาขายต่อกิโลกรัมจะสูงถึง 100 – 800 บาท ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า
ที่ผ่านมา บ้านโป่งทาปิโอก้า มีการลงทุนมากกว่า 800 ล้านบาทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันบ้านโป่งทาปิโอก้า มีพนักงานจำนวน 550 คน ในจำนวนนี้ เป็นพนักงานในส่วนของ R&D ประมาณ 45 คน มีโรงงาน 11 แห่ง มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยยอดขายรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าการดำเนินธุรกิจในช่วง 30 ปีแรกของบริษัท ซึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าของสินค้าที่ขายนั้นเพิ่มขึ้นจากการขายแป้งมันแบบดั้งเดิม
ถ้าดูสัดส่วนรายได้ของบ้านโป่งทาปิโอก้าจะพบว่า แป้งมันแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นสินค้าหลักของบริษัทมากว่า 40 ปี ปัจจุบันมีสัดส่วนตัวเลขเหลือเพียง 17% ของยอดขายรวมทั้งหมด ขณะที่สินค้าในกลุ่ม Basic Modified มีสัดส่วนแบ่งขยับขึ้นไปอยู่ที่ 40.6% และสินค้ากลุ่ม Texture Solution มียอดขายถึง 40.7% และที่เหลืออีก 1.7% จะมาจาก Nutrition/Lifestyle
“คำว่าอาหารอร่อย ส่วนใหญ่เราจะพูดถึงรสชาติ แต่จริงๆ มีอีกสิ่งสำคัญเรื่องหนึ่ง คือเนื้อสัมผัส หรือ Texture เช่น กรอบ เนื้อเนียน เช่น หมูทอดทงคัตสึที่ดีต้องกรอบ เนื้อเนียน เราทำวิจัยร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น ถ้าลองกินร้านที่ราคาสูงหน่อย เนื้อหมูกับแป้งขนมปังจะติดกัน 100% แต่ถ้าร้านย่อมเยาลงมาหน่อยจะมีช่องว่างระหว่างเนื้อหมูกับแป้งเยอะ นี่คือตัวอย่างของเนื้อสัมผัสที่ไม่เหมือน กัน
Texture Solution เราพัฒนาจากแป้งพื้นฐานมาเป็นแป้งพิเศษ เราไม่ได้ทำรสชาติ เราส่งแค่วัตถุดิบให้ตามที่พาร์ทเนอร์ต้องการ เพื่อนำไปผลิตอาหารที่มีความเหนียว ข้น ฯลฯ ตามความต้องการ เช่น ซอสมะเขือเทศของไทยของเทแล้วไหล แต่อินโดนีเซียต้องข้นๆ ต้องใช้ช้อนตัก หรือจะเป็นโยเกิร์ตที่เมืองนอกต้องตักเป็นช้อน ส่วนของเมืองไทยจะชอบเนื้อเนียนๆ ความชอบของคนในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน เราทำหน้าที่ค้นคว้าเพื่อสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าของเรา”
ปัจจุบัน บ้านโป่งทาปิโอก้า ผลิตสินค้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าใน 3 กลุ่มตลาด ได้แก่ กลุ่มแรกอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industry) โดยการพัฒนาเนื้อสัมผัสในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความนุ่ม แน่นเนื้อ กรอบ แข็ง เปราะ ฉ่ำ เนียน หยาบ เหนียว และความเป็นเส้นใย เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 คือ อุตสาหกรรมยา (Pharma Industry) ได้แก่ การพัฒนาแป้งที่นำไปเป็นส่วนผสมในยารักษาโรค ตลอดจนนำไปใช้กลุ่ม Specialized Nutrition Need อย่างเช่น อาหารด้านสุขภาพ อาหารทดแทน รวมไปถึงอาหารทางการแพทย์ หรืออาหารเฉพาะสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ
กลุ่มที่ 3 คือ อุตสาหกรรมกระดาษ (Paper Industry) โดยพัฒนาแป้งให้มีคุณสมบัติ เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการขึ้นรูป เพิ่มความแข็งแรง และการเคลือบผิวหน้ากระดาษ เป็นต้น
การผลิตแป้งนวัตกรรมชั้นสูงของบ้านโป่งทาปิโอก้านั้น นอกจากการทุ่มเทพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องในห้องแล็บแล้ว บริษัทก็ยังให้ความสำคัญต่อตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะวัตถุดิบที่ดีจะช่วยเสริมให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทใช้มันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งลูเซนท์ (LUCENT) ชนิดต่างๆ ซึ่งจุดเด่นของแป้งมันสายพันธุ์พิเศษนี้เมื่อมาบวกกับการวิจัยของบ้านโป่งทาปิโอก้า ทำให้ได้แป้งที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแป้งจากมันฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง
ปัจจุบัน บ้านโป่งทาปิโอก้ามีการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายปลูกมันสายพันธุ์พิเศษและรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 150% ผ่านรูปแบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง โดยเกษตรกรที่เข้ามาเป็นสมาชิกภายใต้เครือ ข่ายดังกล่าวจะได้รับการดูแลจากบริษัทอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การเพาะท่อนพันธุ์ให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการปลูก ระหว่างทางก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูและให้คำปรึกษา จนกระทั่งถึงช่วงของการเก็บเกี่ยวขนส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงาน
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยลดภาระของเกษตรกรแล้วยังจะช่วยให้บริษัทมีโอกาสได้เข้ามาควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกได้โดยตรง และยังสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตภายในบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตรในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแป้งที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่น ถั่วเขียว ถั่วขาว และข้าว เป็นต้น
ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท บ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทกล่าวเสริมว่า สิ่งที่บ้านโป่งทาปิโอก้าต้องการสื่อสารกับตลาดและส่งมอบให้กับลูกค้า ไม่ใช่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปรรูปมันสำปะหลัง แต่เป็นการนำเสนอองค์ความรู้ด้านโครงสร้างของคาร์โบไฮเดรตที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัสให้กับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
การตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ของบริษัทก็เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำร่วมกับลูกค้าทั้งในและต่าง ประเทศ โดยสำนักงานในกรุงเทพฯ ของบริษัทจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของแล็บวิจัย สถานที่ทำ Workshop ระหว่างบริษัทกับลูกค้า หรือระหว่างบริษัทกับตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ใน 20 ประเทศ เพื่อนำโจทย์หรือปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัสมาศึกษาและมองหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาร่วมกัน
“ธุรกิจครอบครัว เรามักจะบอกว่าจะมีปัญหาตอนรุ่นที่ 3 ผมรับรู้เรื่องนี้ดี ผมต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ผมโชคดีที่มีทายาทรุ่น 2 ที่เปิดรับไอเดียใหม่ๆ การเปลี่ยนตัวเองที่ทำมา 6-7 ปีมันเริ่มมีอะไรให้เห็นในวันนี้ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด คือการเปลี่ยนแปลงจากบริษัทผู้ผลิตแป้งมันสำปะ หลังมาเป็น Texture Solution
เราพยายามอัพเกรดองค์ความรู้ ตั้งแต่โครงสร้างของคาร์โบไฮเดรต ทำให้ทีมงานมีความรู้เรื่องนี้ เราต้องเริ่มต้นด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม เราพยายามทำทีมงานให้มีความรู้ และทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เราเริ่มจากการคุยกับลูกค้าเพื่อหาความต้องการร้อยกว่าราย เพื่อหาความต้องการ แล้วเราก็มาหาทางออกให้”
ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ บ้านโป่งทาปิโอก้า ยังได้พัฒนาแป้งนวัตกรรมสำเร็จรูปที่เข้าไปตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ภายใต้แบรนด์บ้านโป่งฟูจิซัง ซึ่งสินค้าในรูปแบบดัง กล่าวนอกจากเพื่อการทดลองและเปิดตลาดใหม่ๆ แล้ว ยังใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้กับตลาดและเป็นสะพานเชื่อมให้กลุ่มเป้าหมาย หรือธุรกิจที่กำลังมองหาโซลูชั่นที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเนื้อสัมผัส สามารถเข้าถึงบริษัทได้ง่ายขึ้น